vittaya

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2486 ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยฯ เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศสมควรที่จะเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นสู่ประชาชน สู่สังคม ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ การเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนได้ทำกันในหลายรูปแบบต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2502 มหาวิทยาลัยฯ จึงได้เริ่มจัดตั้งหน่วยงานภายใน (สำนักส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร) ขึ้นมารับผิดชอบงานด้านนี้ จนกระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2513 จึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม สำนัก-ส่งเสริมและฝึกอบรม ได้พัฒนากิจกรรมด้านการบริการวิชาการให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดเพื่อขยายงานด้านการบริการวิชาการแก่สังคมให้กว้างขวางขึ้นต่อไป

ในปี พ.ศ. 2520-2524 รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ก่อตั้งหน่วยงานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ที่วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ชื่อว่า ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ประกอบด้วย อาคารบริหาร อาคารสื่อการศึกษา อาคารโรงพิมพ์อาคารฝึกอบรม อาคารโรงอาหาร และอาคารหอพัก (จำนวน 4 หลัง) ที่สามารถให้บริการอย่างครบวงจรและเบ็ดเสร็จในตัวเอง ทำให้งานบริการวิชาการของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งภายในและต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบอาคาร 2 ชั้น (อาคารกำพลอดุลวิทย์) ให้สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม (วิทยาเขตบางเขน) อีกหนึ่งหลัง มีพื้นที่ทำการประมาณ 1,000 ตารางเมตร สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้ปรับปรุงให้เป็นห้องสำหรับการฝึกอบรมวิชาชีพแก่ประชาชน จำนวน 9 ห้อง ทำให้แก้ปัญหาการขาดแคลนสถานที่ฝึกอบรมได้ระดับหนึ่ง และในปี พ.ศ.2551 สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมได้ส่งมอบอาคารกำพล อดุลวิทย์ คืนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามบันทึกที่ ศธ.0513.13401/2427 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551

ในปี พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบพื้นที่ทำการให้กับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เพิ่มเติม คือ อาคารวิทยบริการ (ชั้นที่ 4-7) มีพื้นที่ทำการทั้งสิ้น 6,122 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องฝึกอบรม ขนาดความจุ 20-150 คน จำนวน 20 ห้อง และห้องประชุมขนาดความจุ 300 คน จำนวน 1 ห้อง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องห้องฝึกอบรมได้พอสมควร และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีคำสั่งที่ 3573/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบบริหารจัดการอาคารวิทยบริการ

ในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีประกาศสภามหาวิทยาลัย-เกษตรศาสตร์ เรื่อง การจัดตั้งสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน โดยสภามหาวิทยาลัย-เกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2548 จัดตั้งให้ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน เป็นหน่วยงานภายในที่มีสถานภาพเทียบเท่าคณะ ดังนั้น สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน จึงไม่อยู่ภายใต้การบริหารของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่วิชาความรู้สู่สังคมและประชาชน และทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจอันสำคัญนี้มาตลอดโดยได้พัฒนาปรับปรุงกระบวนการตลอดจนเทคนิควิธีการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมาโดยลำดับ จนได้รับประกาศเกียรติคุณ รางวัลหน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาการพัฒนาสังคม (ด้านการศึกษา) ประจำปี พุทธศักราช 2532 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ. 2545 ได้รับ รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

จากการพัฒนางานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสำนักส่งเสริมฯมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในสำนักส่งเสริมฯ ให้สอดคล้องกับลักษณะงาน การขยายงานและสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคม โดยกำหนดโครงสร้างการบริหารงานจาก 6 ฝ่าย เป็น 8 ฝ่าย ในทั้ง 2 วิทยาเขต ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อฝ่ายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น ฝ่ายวิเคราะห์โครงการและหลักสูตรการฝึกอบรม ปรับเปลี่ยนเป็นฝ่ายวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการตั้งฝ่ายเพิ่มขึ้น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสื่อสารการตลาด และกำหนดให้ฝ่ายต่างๆ ทดลองปฏิบัติตามโครงสร้างใหม่ นี้เป็น เวลา 1 ปี เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ก่อนที่จะนำเสนอสภามหาวิทยาลัยฯพิจารณาต่อไป

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิจารณายกฐานะศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติเป็น หน่วยงานใหม่ มีฐานะเทียบเท่าคณะ โดยมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารงาน 8 ฝ่ายซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้พิจารณาเห็นชอบและกำหนดชื่อเป็น “สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน” โดยได้รับอนุมัติจาก สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2548

หลังจากนั้น สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้ทบทวนโครงสร้างองค์กรภายในใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้มี 6 ฝ่าย และให้งานส่งเสริมเผยแพร่ แยกออกจากฝ่ายฝึกอบรม จัดตั้งเป็นฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ โดยมีภารกิจครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาด ดังผังโครงสร้างสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

ปลายปี พ.ศ. 2548 ได้มีการย้ายสถานที่ทำการบางฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารและธุรการทั่วไป และฝ่ายวิเคราะห์โครงการและหลักสูตรการฝึกอบรม จากอาคารเดิมมาอยู่ที่อาคารวิทยบริการ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการด้านอาคาร และเพื่อขยายพื้นที่ทำงานเดิม ให้แก่ฝ่ายพัฒนาสื่อการส่งเสริม และฝ่ายโรงพิมพ์
ปลายปี พ.ศ. 2552 ฝ่ายพัฒนาสื่อการส่งเสริม และฝ่ายโรงพิมพ์ ได้ย้ายสถานที่ทำงานจากอาคารเดิม (ตึก พนม สมิตานนท์) มาอยู่ที่ อาคารวิทยบริการ เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการและการให้บริการวิชาการที่ครบวงจร ของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

Loading...